Professor
Atch Sreshthaputra, Ph.D. – Promoted

ศาสตราจารย์
ดร. อรรจน์ เศรษฐบุตร
ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง ศาสตราจารย์

Published on 09.06.2023

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่อง แต่งตั้งศาสตราจารย์ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งพนักงานมหาวิทยาลัย สังกัดมหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยขอนแก่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ ในสาขาวิชาต่าง ๆ ตั้งแต่วันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ รวม 7 ราย

ภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอแสดงความยินดีกับ ศาสตราจารย์ ดร.อรรจน์ เศรษฐบุตร ในโอกาสที่ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง ศาสตราจารย์ ในสาขาวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ ตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม 2561

ศาสตราจารย์ ดร.อรรจน์ เศรษฐบุตร สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกสาขาวิชาสถาปัตยกรรม จากมหาวิทยาลัยเท็กซัส เอ แอนด์ เอ็ม ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเทคโนโลยีอาคาร (Building Technology) อาคารประหยัดพลังงานและอาคารเขียว โดยมีผลงานวิชาการทั้งที่ตีพิมพ์เป็นหนังสือและบทความในวารสารวิชาการ ซึ่งครอบคลุมเนื้อหางานวิจัยด้านเทคโนโลยีอาคารในแง่มุมต่างๆ อาทิ หนังสือ Living Green นิเวศวิทยสถาปัตย์ (Ecological Architecture) และอาคารเขียว เป็นต้น

ศาสตราจารย์ ดร.อรรจน์ มีแนวคิดเกี่ยวกับการเรียนการสอนทางด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ในระดับอุดมศึกษา จะต้องผลิตบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถทางด้านการออกแบบก่อสร้างอาคารแล้ว การที่จะทำให้ผลผลิตของชาติเหล่านี้มีศักยภาพสูงและมีทัศนคติที่ดีต่องานสถาปัตยกรรม อาจารย์ผู้สอนจะต้องพยายามบูรณาการกิจกรรมการเรียนการสอนในห้องเรียนเข้ากับการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ การปฏิบัติวิชาชีพเพื่อรับรู้ปัญหา การให้บริการวิชาการเพื่อถ่ายทอดความรู้สู่สาธารณะ และการร่วมเป็นที่ปรึกษาให้หน่วยงานภายนอกเพื่อเสริมสร้างประสบการณ์ส่วนตัวของอาจารย์ผู้สอนเอง โดยผู้สอนจะต้องสังเคราะห์ที่ต่างๆ เหล่านี้เข้าเป็นหนึ่งเดียวเพื่อความก้าวหน้าของศาสตร์ทางสถาปัตยกรรม ซึ่งในที่สุดจะช่วยให้การสอนหนังสือเป็นสิ่งที่ท้าทายอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ การเผยแพร่ความรู้ทางสถาปัตยกรรมที่ได้ผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อประโยชน์ของประเทศชาตินั้น ผู้สอนจะต้องเผยแพร่ออกไปให้กว้างไกลไปยังประชาชนทั่วไป นักวิชาชีพ สถาปนิก วิศวกร มิใช่เผยแพร่เพียงแต่ในห้องเรียนของนิสิต แล้วคาดหวังว่าความรู้เหล่านั้นจะซึมซับติดตัวพวกเขาเหล่านั้นออกไปปฏิบัติวิชาชีพเมื่อเรียนจบ ผู้สอนจะต้องสื่อสารความรู้ต่างๆ ออกไปยังสังคมภายนอกด้วยสื่อสิ่งพิมพ์ที่เข้าถึงประชาชน ก่อให้เกิดกระแสที่สร้างผลกระทบในสังคม แล้วให้กระแสเหล่านั้นสะท้อนกลับมาสู่ความต้องการและความคาดหวังในบทบาทของมหาวิทยาลัย ด้วยเหตุนี้ สื่อที่จะส่งผ่านไปถึงนักวิชาชีพจะต้องเน้นการนำเสนอแง่มุมให้ฉุกคิดให้เกิด Critical Thinking ด้วยภาษาที่คุ้นเคย ไม่ใช่ภาษาวิชาการที่เข้าถึงยากที่พบในหนังสือแบบเรียน

Related news ข่าวสารที่เกี่ยวข้อง