Associate Professor Atch Sreshthaputra, Ph.D. – Promoted by Chula

รองศาสตราจารย์ ดร.อรรจน์ เศรษฐบุตร ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ

Published on 04.03.2022

We are delighted to report that Associate Professor Atch Sreshthaputra, Ph.D. has been promoted as the Professor in Architecture by Chulalongkorn University Council.

Congratulations!

 

ภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ขอแสดงความยินดีกับ รองศาสตราจารย์ ดร. อรรจน์ เศรษฐบุตร ในโอกาสที่สภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีมติอนุมัติให้กำหนดตำแหน่งวิชาการเป็น “ศาสตราจารย์” ในสาขาวิชาสถาปัตยกรรม

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 25 มีนาคม 2564 สภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีมติในการประชุมสภามหาวิทยาลัยครั้งที่ 849 อนุมัติให้รองศาสตราจารย์ ดร. อรรจน์ เศรษฐบุตร เป็น ศาสตราจารย์ในสาขาวิชาสถาปัตยกรรม ภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์

รองศาสตราจารย์ ดร.อรรจน์ เศรษฐบุตร สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกสาขาวิชาสถาปัตยกรรม จากมหาวิทยาลัยเท็กซัส เอ แอนด์ เอ็ม ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเทคโนโลยีอาคาร (Building Technology) อาคารประหยัดพลังงานและอาคารเขียว โดยมีผลงานวิชาการทั้งที่ตีพิมพ์เป็นหนังสือและบทความในวารสารวิชาการ ซึ่งครอบคลุมเนื้อหางานวิจัยด้านเทคโนโลยีอาคารในแง่มุมต่างๆ อาทิ หนังสือ Living Green นิเวศวิทยสถาปัตย์ (Ecological Architecture) และอาคารเขียว เป็นต้น

รองศาสตราจารย์ ดร.อรรจน์ มีแนวคิดเกี่ยวกับการเรียนการสอนทางด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ในระดับอุดมศึกษา จะต้องผลิตบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถทางด้านการออกแบบก่อสร้างอาคารแล้ว การที่จะทำให้ผลผลิตของชาติเหล่านี้มีศักยภาพสูงและมีทัศนคติที่ดีต่องานสถาปัตยกรรม อาจารย์ผู้สอนจะต้องพยายามบูรณาการกิจกรรมการเรียนการสอนในห้องเรียนเข้ากับการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ การปฏิบัติวิชาชีพเพื่อรับรู้ปัญหา การให้บริการวิชาการเพื่อถ่ายทอดความรู้สู่สาธารณะ และการร่วมเป็นที่ปรึกษาให้หน่วยงานภายนอกเพื่อเสริมสร้างประสบการณ์ส่วนตัวของอาจารย์ผู้สอนเอง โดยผู้สอนจะต้องสังเคราะห์ที่ต่างๆ เหล่านี้เข้าเป็นหนึ่งเดียวเพื่อความก้าวหน้าของศาสตร์ทางสถาปัตยกรรม ซึ่งในที่สุดจะช่วยให้การสอนหนังสือเป็นสิ่งที่ท้าทายอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ การเผยแพร่ความรู้ทางสถาปัตยกรรมที่ได้ผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อประโยชน์ของประเทศชาตินั้น ผู้สอนจะต้องเผยแพร่ออกไปให้กว้างไกลไปยังประชาชนทั่วไป นักวิชาชีพ สถาปนิก วิศวกร มิใช่เผยแพร่เพียงแต่ในห้องเรียนของนิสิต แล้วคาดหวังว่าความรู้เหล่านั้นจะซึมซับติดตัวพวกเขาเหล่านั้นออกไปปฏิบัติวิชาชีพเมื่อเรียนจบ ผู้สอนจะต้องสื่อสารความรู้ต่างๆ ออกไปยังสังคมภายนอกด้วยสื่อสิ่งพิมพ์ที่เข้าถึงประชาชน ก่อให้เกิดกระแสที่สร้างผลกระทบในสังคม แล้วให้กระแสเหล่านั้นสะท้อนกลับมาสู่ความต้องการและความคาดหวังในบทบาทของมหาวิทยาลัย ด้วยเหตุนี้ สื่อที่จะส่งผ่านไปถึงนักวิชาชีพจะต้องเน้นการนำเสนอแง่มุมให้ฉุกคิดให้เกิด Critical Thinking ด้วยภาษาที่คุ้นเคย ไม่ใช่ภาษาวิชาการที่เข้าถึงยากที่พบในหนังสือแบบเรียน

รองศาสตราจารย์ ดร.อรรจน์ เป็นผู้มีประสบการณ์ในการให้คำปรึกษาเกี่ยวการออกแบบอาคารประหยัดพลังงานมากกว่า 20 ปี และได้รับเชิญให้เป็นกรรมการหน่วยงานที่เกี่ยวกับการออกแบบอาคารประหยัดพลังงาน อาทิ คณะกรรมการมูลนิธิอาคารเขียวไทย คณะกรรมการรับรองการลดหรือหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน เป็นต้น

นอกจากนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.อรรจน์ยังได้รับเลือกให้เป็นที่ปรึกษาของ International Well Being Institute (IWBI) และเคยได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิชาปรัชญา เมื่อปี พ.ศ 2562 อีกด้วย

Related news ข่าวสารที่เกี่ยวข้อง