Associate Professor Tanit Charoenpong,Ph.D.
Honorary Doctorate Degree
รองศาสตราจารย์ ดร.ฐานิศวร์ เจริญพงศ์
ปริญญาสถาปัตยกรรมศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ประจำปีการศึกษา 2564
Our warmest congratulations to Professor Emerita Lersom Sthapitanonda on the Conferment of Honorary Doctoral Degree of Architecture.
ภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ขอแสดงความยินดีกับ รองศาสตราจารย์ ดร. ฐานิศวร์ เจริญพงศ์ สถาปัตยกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
“ด้วยสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการประชุมครั้งที่ 864 เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2565 ได้พิจารณาเห็นว่า รองศาสตราจารย์ ดร. ฐานิศวร์ เจริญพงศ์ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิถึงพร้อมด้วยคุณธรรม จริยธรรมและเมตตาธรรม มีความรู้ความสามารถ มีความเชี่ยวชาญสาขาทฤษฎีสถาปัตยกรรม กระบวนการคิดเชิงออกแบบ มีผลงานเป็นที่ประจักษ์และได้รับการยอมรับในวงการวิชาการทั้งในระดับชาติและนานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับทฤษฎีสถาปัตยกรรม กระบวนการคิดเชิงออกแบบ นับเป็นแบบอย่างที่พึงยกย่องในวงการเพื่อเป็นเกียรติและบรรทัดฐานให้ผู้อื่นเจริญรอยตามสืบไป”
—
รองศาสตราจารย์ ดร. ฐานิศวร์ เจริญพงศ์ สำเร็จการศึกษาสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับสอง) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปีพุทธศักราช 2512 สถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยแคนซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปีพุทธศักราช 2517 และปริญญาสถาปัตยกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาสถาปัตยกรรม จากมหาวิทยาลัยเพนน์ซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปีพุทธศักราช 2522
รองศาสตราจารย์ ดร. ฐานิศวร์ เจริญพงศ์ มีบทบาทด้านการเรียนการสอนในสาขาทฤษฎีสถาปัตยกรรม กระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ตลอดจนการวางผังแม่บท ผังเฉพาะ แผนการใช้ที่ดิน การใช้สอยเนื้อที่ภายในอาคารเพื่อจัดทำมาตรฐานต้นแบบ ของกลุ่มอาคารประเภทต่างๆ ปรากฏทั้งในงานวิจัย งานสอน และงานวิชาชีพของท่าน อาทิ หนังสือ สรรพสาระจากทฤษฎีสถาปัตยกรรมตะวันตก เอกสารคำสอน เรื่อง เกณฑ์และแนวความคิดการออกแบบสถาปัตยกรรม ตลอดจนการวางผังแม่บทและอาคารสถานที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี คุณูปการของท่านที่สำคัญยิ่งในการพัฒนาองค์ความรู้สาขาสถาปัตยกรรมในประเทศไทย คือการบุกเบิกการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการออกแบบสถาปัตยกรรม ทั้งในวงวิชาการและวงวิชาชีพ รองศาสตราจารย์ ดร. ฐานิศวร์ตระหนักถึงศักยภาพของคอมพิวเตอร์ในการออกแบบ ทั้งการคิด ประมวลผล และนำเสนอเป็นแบบสถาปัตยกรรมทั้งสองมิติและสามมิติ ในสมัยที่คอมพิวเตอร์ยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายในสังคม ท่านเป็นผู้ผลักดันให้คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกในประเทศที่ใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการออกแบบสถาปัตยกรรม ทั้งในการเรียนการสอนและการประกอบวิชาชีพ ผสานศาสตร์แห่งวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ได้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของกาลสมัย ท่านมีบทบาทสำคัญในการบรรจุวิชาคอมพิวเตอร์เพื่อการออกแบบเข้ามาในหลักสูตรทุกระดับชั้น และวางรากฐานหลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิตด้านคอมพิวเตอร์ ให้มีคุณภาพสูงเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ
รองศาสตราจารย์ ดร. ฐานิศวร์ได้รับราชการเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่พุทธศักราช 2526 ได้ปฏิบัติงานสอนในรายวิชาต่างๆ ให้ความรู้และความเชี่ยวชาญในศาสตร์แห่งสถาปัตยกรรมมาอย่างต่อเนื่อง จนเกษียณอายุราชการในตำแหน่งรองศาสตราจารย์เมื่อพุทธศักราช 2547 นอกจากงานสอนแล้วท่านยังมีกิตติคุณในด้านการบริหารการศึกษา ตลอดจนวิสัยทัศน์ที่ทันสมัยอยู่เสมอ ท่านจึงได้รับเชิญเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในกิจการสำคัญต่าง ๆ เช่น ประธานหลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิต ผู้ทรงคุณวุฒิ ประเมินผลงานวิชาการในสาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์ ประธานกรรมการและกรรมการประเมินผลวิทยานิพนธ์ระดับบัณฑิตศึกษาและดุษฎีบัณฑิต ประจำภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ มีบทบาทอย่างมากในการหล่อหลอมบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาในสาขาวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ ทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน เพียบพร้อมด้วยความรู้ทางวิชาการและมีคุณธรรม ความเป็น “ครูแม่แบบ” ของท่านเป็นที่ประจักษ์ชัดแก่ศิษย์ คณาจารย์ และผู้ร่วมงานอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยเหตุดังกล่าว สภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้รองศาสตราจารย์ ดร. ฐานิศวร์ เจริญพงศ์ ได้รับพระราชทานปริญญาสถาปัตยกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ เพื่อเป็นเกียรติสืบไป